สมุนไพรที่สามารถต้านไวรัสได้อย่างไม่น่าเชื่อ
สมุนไพรไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนสมัยใหม่ที่มองว่าสมุนไพรนั้นล้าสมัย การนำมาใช้ยุ่งยาก จึงนิยมใช้ยาแผนปัจจุบันในการรักษาโรคมากกว่า แต่หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 สมุนไพรก็กลับมาได้รับความนิยม มีสื่อต่าง ๆ ที่พูดถึงสรรพคุณของสมุนไพร และมีการผลิต การแปรรูป เพื่อนำมาจำหน่ายมากขึ้น แต่การจะนำสมุนไพรมาใช้นั้นก็ควรจะใช้ให้ถูกวิธีเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
การใช้สมุนไพรให้ถูกวิธี
ก่อนนำสมุนไพรแต่ละชนิดมาใช้ควรทำการศึกษาให้ดี เพื่อให้ได้รับผลการรักษาตามที่ต้องการ ข้อเหล่านี้เป็นข้อควรระวังสำหรับมือใหม่หรือมือเก่าที่สนใจจะใช้สมุนไพร
1. เลือกสมุนไพรให้ถูกต้อง บางครั้งการเรียกชื่อของสมุนไพรอาจจะซ้ำกัน แต่เป็นสมุนไพรที่เป็นคนละชนิด ต้องดูให้แน่ใจว่าเป็นชนิดที่ต้องการ
2. เลือกส่วนของสมุนไพรที่มีสรรพคุณตามที่ต้องการ สมุนไพรแต่ละส่วนจะมีการออกฤทธิ์และให้ผลการรักษาที่แตกต่างกัน ต้องเลือกให้ถูกส่วน
3. ใช้สมุนไพรให้ถูกขนาด ปริมาณของสมุนไพรที่นำมาใช้ ควรใช้ตามที่กำหนดในตำรับยา ถ้าใช้ปริมาณน้อยไปผลการรักษาอาจจะไม่ดี แต่ถ้าใช้มากเกินไป ก็อาจเกิดอันตรายได้
4. ใช้สมุนไพรให้ถูกวิธี สมุนไพรแต่ละตัวจะมีวิธีการทำให้ได้สารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน เช่น นำต้นสดมาตำ นำไปตากแห้งแล้วบด หรือนำมาต้ม เป็นต้น
5. ใช้สมุนไพรให้ตรงกับโรค สมุนไพรก็เหมือนยาที่แต่ละชนิดก็จะรักษาโรคที่แตกต่างกัน จึงต้องเลือกสมุนไพรให้ถูกกับอาการที่เป็น
5 สมุนไพรที่สามารถต้านไวรัสได้
สมุนไพรมีมากมายหลายชนิด แต่ละต้นก็จะมีสรรพคุณที่แตกต่างกัน กลุ่มที่นำมาแนะนำในวันนี้ เป็นสมุนไพรกลุ่มที่สามารถต้านไวรัสได้
1. ขมิ้นแกงหรือขมิ้นชัน
ในเหง้ามีสารกลุ่ม Curcuminoids เป็นสารสำคัญที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกัน โดยจะไปกระตุ้นเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น แมคโคฟาจ (Macrophage) เซลล์เดนไดรท์ (Dendritic Cells) บี ลิมโฟไซต์ (B lymphocyte) ที ลิมโฟไซต์ (T lymphocyte) จึงทำให้ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่สามารถต้านไวรัสได้
เมนูจากขมิ้น ไก่ต้มขมิ้น หมูสะเต๊ะ ปลาทอดขมิ้น ถ้าใครที่ไม่ชอบทานขมิ้นสดสามารถทานขมิ้นที่เป็นแคปซูลแทนได้
2. กระชาย
กระชายมีด้วยกัน 3 ชนิด คือ กระชายดำ กระชายแดง และกระชายเหลืองหรือบางคนเรียกว่ากระชายขาว กระชายที่นิยมใช้กันก็คือกระชายเหลือง นอกจากจะนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารแล้ว กระชายเหลืองยังมีสารออกฤทธิ์ ช่วยต้านอาการหวัด ลดอาการอักเสบของกระเพาะอาหาร ยับยั้งการเติบโตของเชื้อไวรัส แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
เมนูจากกระชาย แกงป่าไก่ ผัดฉ่าปลาดุก และยังมีการนำกระชายมาแปรรูป เป็นกระชายผงชงดื่ม กระชายทั้งในรูปแบบเม็ดและแคปซูล รวมทั้งนำมาทำเป็นเครื่องดื่มกระชายด้วย
3. หอมแดง
ในหัวหอมนั้นมีสารเคอร์ซิติน (Quercetin) และมีน้ำมันอัลลิลิก ไดซัลไฟด์ (Allilic Disulfides Oil) ซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก ขับเสมหะ ต้านเชื้อไวรัส ต้านเชื้อแบคทีเรีย
เมนูจากหอมแดง ไข่เจียวใส่หอมแดง นำมาทำหอมเจียวเอาไว้โรยหน้า
4. กระเทียม
กระเทียมมีสารอัลลิซิน ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านไวรัส ต้านการออกซิเดชั่น ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และต้านการอักเสบได้ นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมคอเลสเตอรอล อีกด้วย
เมนูจากกระเทียม ปลาทอดกระเทียม ไก่ทอดกระเทียมพริกไทย ถ้าไม่ชอบกลิ่นกระเทียมจะทานเป็นกระเทียมแคปซูลก็ได้
5. ข่า
ข่าเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้ในการรักษาหลอดลมอักเสบ มีสารเคอร์ซิติน (Quercetin) เป็นสารกลุ่มโพลีฟีนอล ที่มีฤทธิ์ลดอักเสบ เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านไวรัส นอกจากนี้ยังใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ลมพิษ รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน ได้ด้วย
เมนูจากข่า น้ำพริกข่า ต้มข่าไก่
สมุนไพรของไทย ที่ช่วยต้านไวรัสเหล่านี้ หาซื้อได้ง่าย นำมาปรุงเป็นอาหารรับประทานได้หลากหลายเมนู ทำให้เราจะได้ประโยชน์ อิ่มอร่อย และมีสุขภาพดีไปพร้อมกันด้วย