โรคกลัว (Phobia) รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ควรดูแลตัวเองอย่างไร

โรคกลัว (Phobia) รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ควรดูแลตัวเองอย่างไร

คนทุกคนต้องมีสิ่งที่ตัวเองกลัวอย่างน้อยหนึ่งอย่าง บางอย่างเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เวลาจะช่วยให้ทำใจยอมรับได้ บางอย่างที่หลีกเลี่ยงได้ ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นหรือไม่ให้มีโอกาสเผชิญหน้าได้ ในขณะที่ผู้เป็นโรคกลัวหรือ Phobia มีความรู้สึกกลัวและกังวลในระดับรุนแรง ก่อให้เกิดอาการในร่างกาย รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ถึงแม้จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่กลัวได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาหรือบำบัดก็จะดีกว่าการหลีกเลี่ยงเพียงอย่างเดียว

โรคกลัวมีวิธีรักษาอย่างไร จำเป็นหรือไม่ที่ต้องหายกลัว

โรคกลัวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง คือกลัวเฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างชัดเจน และโรคกลัวแบบซับซ้อน มักเกิดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีปัจจัยเกี่ยวข้องมาก เช่น กลัวการเข้าสังคม กลัวการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก กลัวการสอบ เป็นต้น โดยโรคกลัวหากสามารถหลีกเลี่ยงได้และไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเผชิญหน้า หรืออย่างน้อยที่สุดจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น อาจพิจารณาเลือกวิธีรักษาดังต่อไปนี้

1.ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำจิตบำบัด

การทำจิตบำบัดมีหลายวิธี เช่น การสะกดจิต การเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว การบำบัดโดยมีปฏิสัมพันธ์แบบกลุ่ม เป็นต้น การบำบัดแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับเพศ วัย และปัจจัยอื่น ๆ ของผู้เข้ารับการบำบัด จึงควรบำบัดภายใต้การดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยเฉพาะวิธีบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว ต้องค่อย ๆ เลื่อนระดับและมีแพทย์อยู่อย่างใกล้ชิด

2.กินยาบรรเทาอาการวิตกกังวล

อาการของโรคกลัวมีหลายอย่าง ได้แก่ ตัวสั่น มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ เหงื่อออก ปากแห้ง หากอาการเข้าขั้นรุนแรงอาจหมดสติได้ ยาที่แพทย์จ่ายให้กับผู้ป่วยโรคกลัวจึงเป็นยาประเภทระงับอาการวิตกกังวลและคลายความเครียด ไม่ควรใช้เกินปริมาณที่แพทย์แนะนำหรือหยุดยาเอง

3.ปรับพฤติกรรมและสภาพแวดล้อม

นอกเหนือจากการรักษาโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแล้ว ในส่วนที่ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดทำได้คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจเริ่มต้นจากการปรับสภาพแวดล้อม เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สร้างนิสัยที่ช่วยให้จิตใจเข้มแข็งมากขึ้น เช่น การนั่งสมาธิ การออกกำลังกาย การพูดคุยเรื่องดี ๆ กับคนใกล้ตัว เป็นต้น

โรคกลัวมีโอกาสหายได้ หากรักษาได้ตรงจุด

โรคกลัวเป็นโรคที่ไม่มีวิธีป้องกันสาเหตุได้อย่างสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ สิ่งที่ทำได้คือหากเกิดประสบการณ์หรือมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคกลัวไปแล้ว การรักษาอย่างถูกวิธีจะช่วยให้โรคกลัวหายได้ในระยะยาว เนื่องจากประสบการณ์ที่มีต่อโรคกลัวหรือสิ่งที่กลัวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิธีรักษาโรคกลัวจึงแตกต่างกันไปเฉพาะบุคคล ให้เลือกวิธีการที่เหมาะสมกับตนเอง ควบคู่ไปกับวิธีการเหล่านี้

  • ฝึกยอมรับความรู้สึกด้านลบ อยู่กับความกลัวอย่างมีสติ
  • ไม่กดดันตนเองให้หายกลัวเร็ว ๆ ชื่นชมเมื่อสามารถเผชิญหน้าสิ่งที่กลัวได้นานขึ้น
  • ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นบ่อย ๆ

การรักษาโรคกลัวต้องใช้ระยะเวลา ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของโรค และวิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละคน สิ่งสำคัญคือการมองตนเองในแง่บวก และใช้ความสม่ำเสมอสร้างพฤติกรรมที่ทำให้จิตใจเข้มแข็ง เพื่อเอาชนะอุปสรรคจากโรคกลัวให้ได้ เมื่อหายจากโรคกลัวได้ ผลที่ตามมาคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top