รวมความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช ที่คุณอาจเคยเชื่อมาก่อน
เมื่อการหาข้อมูลไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ข้อมูลเรื่องโรคทางจิตเวชจึงสามารถเข้าถึงได้ง่ายเหมือนความรู้ด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคจิตเวชอยู่ในความคิดของคนส่วนมาก เนื่องจากหลายคนไม่ได้ตระหนักว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการสังเกตอาการระยะแรก ๆ และมีภาพจำต่าง ๆ ในแง่ลบเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชแต่ละแบบ การทำความเข้าใจโรคจิตเวชให้ถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็น หากวันหนึ่งเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว
ทำไมคนจึงเข้าใจโรคจิตเวชผิด ๆ ควรหาข้อมูลอย่างไร
สังคมไทยเริ่มตระหนักถึงโรคจิตเวชเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ดังนั้น ภาพจำส่วนใหญ่ที่คนไทยได้รับเกี่ยวกับโรคจิตเวช จึงมาจากสื่อ ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ หรือข่าวด่วนสั้น ๆ ที่สะท้อนอาชญากรรมจากผู้ป่วยจิตเวชระดับรุนแรง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังเกิดความเข้าใจผิดระหว่างโรคจิตเวชและโรคจิตเภทอยู่ โดยโรคจิตเวชคืออาการผิดปกติทางจิต เช่น ซึมเศร้า ความวิตกกังวล อารมณ์สองขั้ว เป็นต้น ในขณะที่โรคจิตเภทคือความผิดปกติที่ลึกลงไปถึงระดับสารสื่อประสาท เช่น มองเห็น ได้ยิน หรือได้กลิ่น ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอยู่จริง ส่งผลอย่างหนักต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อความเข้าใจเรื่องนี้น้อย สื่อจึงฉายภาพออกมาเป็นโรคจิตเภทมากกว่า เพราะมีอาการที่ชัดเจน สังเกตได้ง่ายกว่านั่นเอง
ความเข้าใจที่ควรแก้ไขโดยด่วน เกี่ยวกับโรคจิตเวช
ทั้งโรคจิตเวชและโรคจิตเภทสามารถรักษาให้หายได้ หากพบแพทย์ ทานยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หากมั่นใจว่าตนเองมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง แต่คนใกล้ตัวมีโอกาสเสี่ยง หรือมีความคิดและการกระทำที่แตกต่างไปจากเดิม ไม่ควรใช้ความเข้าใจดังต่อไปนี้ตัดสินอาการของคนใกล้ตัว
1.คนเป็นซึมเศร้าคือคนเรียกร้องความสนใจ
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความรู้สึกมากมายเกิดขึ้นในใจ เพราะปัญหาด้านลบที่สะสมมาจนสารสื่อประสาททำงานอย่างผิดปกติ สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการคือการขอความช่วยเหลือด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย การส่งข้อความหาใครหลายคน การแสดงออกแบบแปลก ๆ ต่างจากปกติ ไม่ใช่การเรียกร้องความสนใจ แต่ผู้ป่วยพยายามขอความช่วยเหลือในขณะที่ไม่อยากรบกวนใคร จึงเป็นไปในรูปแบบที่คล้ายกับการเรียกร้องความสนใจเท่านั้นเอง
2.ฮิสทีเรียไม่ใช่อาการเซ็กส์จัดตลอดเวลา
ฮิสทีเรียคือความผิดปกติทางบุคลิกภาพอย่างหนึ่ง พฤติกรรมหลักคือการเรียกร้องความสนใจ สาเหตุเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมในวัยเด็ก หรือมีครอบครัวที่อารมณ์แปรปรวน อาการเรียกร้องความสนใจมีหลายแบบ เช่น การแสดงท่าทางและคำพูดเกินจริงเหมือนกำลังเล่นละคร ขู่จะทำร้ายตนเองเมื่อไม่ได้ดังใจ แต่งกายโดดเด่นเกินจำเป็น เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมยั่วยวนเพศตรงข้ามเป็นเพียงหนึ่งในพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นได้เท่านั้น
3.ไบโพลาร์ ไม่ได้มีแค่อาการเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
ไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว ทำให้เกิดสภาวะอารมณ์ที่ขึ้นสุดและลงสุดอย่างไม่สามารถควบคุมได้ สภาพอารมณ์สุดขั้วมักเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายชั่วโมงจนถึงหลายวันโดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถดึงให้กลับสู่สภาพอารมณ์ปกติได้ จึงมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ทั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงอารมณ์ดีสุดขั้วหรือก้าวร้าวสุดขีดเท่านั้น ไบโพลาร์ยังมีอาการซึมเศร้า อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวแบบไม่สุดโต่ง อาการแบบเรื้อรังเป็นปี ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์จึงจะระบุได้ว่าเป็นไบโพลาร์
โรคดังกล่าวเป็นโรคที่พบได้บ่อย และอาการหลายอย่างอาจถูกตีความว่าเป็นนิสัยมากกว่าอาการของโรค หากสงสัยว่าตัวเองและคนใกล้ตัวผิดปกติหรือไม่ อย่าคิดว่าไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ แล้วพยายามรักษาด้วยตัวเอง หรือแก้ไขด้วยวิธีอื่นที่ไม่ตรงจุด ดังนั้น ควรปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อความเข้าใจและการรักษาอย่างถูกต้อง