9 ตำรับแผนโบราณ อีกทางเลือกหนึ่งของยาสามัญประจำบ้าน

9 ตำรับแผนโบราณ อีกทางเลือกหนึ่งของยาสามัญประจำบ้าน

ในสมัยเด็ก หากนึกถึงตู้ยาประจำบ้าน เรามักจะนึกถึงยาแผลแดง ยาพารา ยาแผลเหลือง ซึ่งล้วนแต่เป็นยาแผนปัจจุบันซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันกระแสของยาทางเลือกนั่นคือยาแผนโบราณได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น วันนี้เราจะทำความรู้จักกับยาแผนโบราณที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาสามัญประจำบ้านว่ามีอะไรบ้าง เพื่อเป็นอีกทางเลือกสำหรับตู้ยาประจำบ้านของเรา แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” กันก่อนดีกว่าว่าคืออะไร

ยาสามัญประจำคือยาอะไร?

ยาสามัญประจำบ้าน (Household-medicine) คือยาที่มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นยาที่กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  (อ.ย.) ได้ออกประกาศในกฎกระทรวง โดยแบ่งเป็นสองประเภท

  1. ยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน 52 รายการ
  2. ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ 28 รายการ

โดยยาทั้ง 2 กลุ่มนี้สามารถวางขายได้นอกสถานพยาบาลและร้านขายยา และคนทั่วไปสามารถซื้อได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากบุคลากรทางการแพทย์เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร

9 ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ที่ควรมีติดตู้ยาไว้ยามฉุกเฉิน

ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณที่หยิบยกมานี้ส่วนหนึ่งของยาแผนโบราณที่ได้รับการรับรองจากกองยา กระทรวงสาธารณสุข ว่าสามารถใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณได้

1.ยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร

สรรพคุณ : แก้อาการหวัด บรรเทาอาการเจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

ข้อควรระวัง : ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต

2.ยาประสะมะแว้ง  

สรรพคุณ : แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ

ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 15 วัน

3.ยาหอมนวโกฐ  

สรรพคุณ : แก้อาการวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน ลมจุกแน่นในอก อ่อนเพลีย

ข้อควรระวัง : ห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีไข้

4.ยาประสะกะเพรา

สรรพคุณ : แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง

ข้อควรระวัง : ห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีไข้

5.ยาเถาวัลย์เปรียง

สรรพคุณ : แก้อาการปวดกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ

ข้อควรระวัง : ห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์

6.ยาประสะไพล

สรรพคุณ : แก้อาการจุกเสียด บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขับน้ำคาวปลา

ข้อควรระวัง : ห้ามใช้ในหญิงตกเลือดหลังคลอด หญิงตั้งครรภ์ หรือในผู้ที่มีประจำเดือนมามากกว่าปกติและผู้ที่มีไข้

7.ยาเขียวหอม

สรรพคุณ : แก้อาการไข้ ตัวร้อน ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและอีสุกอีใส)

ข้อควรระวัง :ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้

8.ยาธรณีสันฑะฆาต

สรรพคุณ : ช่วยระบาย แก้ท้องผูก

ข้อควรระวัง : ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ และเด็ก

9.ยาเหลืองปิดสมุทร

สรรพคุณ : บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่นอุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปนท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้

ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้เกิน 1 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

ข้อดีของยาสมุนไพรและยาแผนโบราณ

1.ในด้านส่วนรวม

1.1 ทำให้ประเทศไทยพึ่งพาตนเองด้านยาและสุขภาพได้มากขึ้น

1.2 สืบสานภูมิปัญญาของชาติ

1.3 เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ สร้างโอกาสในการแข่งขันในตลาด

14. นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการสร้างงานให้แก่ชุมชน

2.ในด้านการรักษาโรค

2.1 สมุนไพรหนึ่งชนิดมีประโยชน์ตั้งแต่การรักษาโรคได้หลายอาการไปจนถึงการช่วยต้านอนุมูลอิสระ

2.2 ยาสมุนไพรมีความปลอดภัยมากกว่ายาจากสารเคมี

2.3 สมุนไพรมาจากธรรมชาติ ร่างกายนำปรับใช้ได้ดีกว่ายาจากสารเคมี

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคนั้น หากมีการใช้ร่วมกับยาหรืออาหารเสริมชนิดอื่น ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และควรอ่านฉลากยาและคำเตือนให้ละเอียด และไม่ควรกินยาพร่ำเพรื่อโดยที่ยังไม่มีอาการของโรค

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top