3 โรคในผู้สูงอายุที่ควรรู้ทันเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

3 โรคในผู้สูงอายุที่ควรรู้ทันเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในผู้สูงอายุหลากหลายโรคมากกว่าคนวัยอื่น ๆ เนื่องจากร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดโรคตามมาได้ง่าย ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ

ทราบหรือไม่ 3 โรคในผู้สูงอายุที่มักเกิดกับผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีอะไรบ้าง

1. โรคหัวใจ

หัวใจของคนเราทำหน้าที่สูบฉีดเลือดเพื่อนำเอาออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้สามารถเจริญเติบโตและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบหัวใจและหลอดเลือดถือเป็นศูนย์กลางที่ทำหน้าที่คอยหล่อเลี้ยงอวัยวะร่างกายส่วนอื่น ๆ ให้สามารถทำงานได้อย่างปกติ ดังนั้น หากผู้สูงอายุคนใดเป็นโรคหัวใจ ก็มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตกะทันหันได้ โดยโรคหัวใจเกิดจากความเสื่อมสภาพของหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่เพียงพอ เกิดอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจลำบาก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

2. โรคสมอง

โรคสมองเป็นโรคในผู้สูงอายุที่เกิดจากการที่เซลล์สมองถูกทำลาย ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาโรคสมองมีอาการบางอย่างที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นความจำเสื่อม ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ลดลง หรือแม้กระทั่งไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้อย่างที่เคย ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดมาจากโรคสมองประเภทต่าง ๆ เช่น สมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน เป็นต้น สาเหตุการเกิดโรคทางสมองอาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ อาทิ ความเสื่อมของสมองตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นได้จากพันธุกรรม เป็นต้น

3. โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกเป็นอีกหนึ่งโรคในผู้สูงอายุที่พบบ่อย ในบางกรณีพบว่าโรคนี้สามารถส่งผลรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้สูงอายุพิการหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โรคนี้เกิดจากการขาดความสมดุลในการสร้างและสลายของมวลกระดูกในร่างกาย และเกิดจากการที่กระดูกเสื่อมสภาพลงตามกาลเวลา ทำให้มวลกระดูกลดลง ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีอาการปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดขา และมีโอกาสที่กระดูกจะเปราะแตกหักได้ง่ายกว่าในวัยอื่น ๆ โรคนี้ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้สูงอายุเพศหญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศหญิงที่มีส่วนช่วยสำคัญในการสร้างกระดูกนั่นเอง

หลากหลายวิธีป้องกันการเป็นโรคในผู้สูงอายุ

และในบทความนี้ก็ไม่พลาดที่จะนำเอาแนวทางในการช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วย ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคในวัยสูงอายุมาฝากกัน

1. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สารอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีน และอาหารที่มีกากใยไฟเบอร์สูง และเป็นไปได้ควรงดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอย่าลืมว่า “You are what you eat” หากร่างกายได้รับแต่อาหารที่เป็นประโยชน์ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคในผู้สูงอายุลงได้

2.หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าในวัยผู้สูงอายุนั้นไม่ควรที่จะออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬาที่มีการกระแทกมากเกินไปนัก เพราะจะส่งผลไม่ดีต่อกระดูก แต่อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายก็ยังจำเป็นอยู่ดี อย่างน้อย ๆ ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายเกิดความแอคทีฟอยู่เสมอ นอกจากนี้การออกกำลังกายยังส่งผลดีต่อระบบหัวใจและการสูบฉีดเลือดอีกด้วย

3. ควรควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากการมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ การเป็นโรคอ้วนอาจจะก่อให้เกิดโรคในผู้สูงอายุอื่น ๆ ตามมา อาทิ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น ดังนั้นการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์โดยคำนวณจากค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) อย่างเป็นประจำจึงเป็นเรื่องสำคัญ

สุดท้ายนี้แม้ว่าเราทุกคนจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ แต่อย่างน้อย ๆ เราก็สามารถที่จะเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ และลดปัญหาทางด้านสุขภาพในวัยชราได้ ทั้งนี้โรคในผู้สูงอายุอาจจะไม่น่ากลัวเท่าที่คิด หากมีวิธีการรับมือที่ดีเพียงพอ เพียงแค่เริ่มเราทุกคนก็สามารถเป็นคนสูงอายุที่มีสุขภาพดีในบั้นปลายไม่เป็นภาระลูกหลานได้

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top