อายุมากแล้ว สามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้หรือไม่
อัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในโรคที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการใช้ชีวิต ทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้าง เกิดจากภาวะสมองเสื่อมซึ่งบางครั้งอาจไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม อัลไซเมอร์เป็นโรคที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ ยิ่งมีการบริหารสมองได้เร็วยิ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมสูง แต่ถ้าใครเข้าสู่วัยที่รู้สึกว่าตนเองอายุมากแล้ว จะป้องกันอัลไซเมอร์ได้ทันหรือไม่ ยังไม่ต้องเป็นกังวลมากจนเกินไป เพราะเมื่อเริ่มตระหนักขึ้นได้ว่าต้องป้องกัน ไม่ว่าอายุเท่าไรก็ตามถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดี
อายุเท่าไรเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ สังเกตอาการเริ่มต้นได้อย่างไร
ช่วงอายุที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่คือช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงแต่ยังไม่ได้รับการป้องกันหรือรักษา ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก ๆ 5 ปี แล้วจะรักษาได้ยาก สิ่งสำคัญคือการสังเกตอาการหลงลืมของตนเองว่าผิดไปจากปกติหรือไม่ ระยะของโรคอัลไซเมอร์มีอยู่ 3 ระดับ ได้แก่ ระยะแรก ระยะกลาง และระยะสุดท้าย หากยังอยู่ในระยะแรกยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้นั่นเอง เมื่อสังเกตว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ ให้ลองจดบันทึกไว้และดูว่าเกิดขึ้นถี่ มากน้อยแค่ไหน
- วางของผิดที่ วางของในที่ที่ของสิ่งนั้นไม่ควรตั้งอยู่ เช่น ลืมแว่นตาในตู้เสื้อผ้า ใส่ถุงเท้าไว้ในถังขยะ เป็นต้น
- จำทิศทางสลับกัน โดยเฉพาะทางที่เคยไปบ่อย ๆ แต่กลับไปผิด
- ลืมเรื่องที่เกิดขึ้นไปไม่นานอยู่บ่อย ๆ
- รู้สึกว่าจัดระเบียบความคิดได้ลำบาก เรียนรู้เรื่องใหม่ได้ยากขึ้น
- มีสมาธิจดจ่อลดลง ไม่สามารถโฟกัสอะไรได้นาน ๆ ทั้งที่ปกติสามารถจดจ่อได้นาน
วิธีป้องกันอัลไซเมอร์ ที่ทุกคนสามารถทำได้
หากตนเองและคนใกล้ตัวสังเกตเห็นอาการระยะเริ่มต้นแล้ว ร่วมกับการตรวจสอบประวัติครอบครัวพบว่ามีความเสี่ยงตามพันธุกรรม ให้ลองปรับพฤติกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการเรียนรู้และจดจำมากขึ้น รวมถึงดูแลสุขภาพร่างกายโดยทั่วไปให้แข็งแรงเป็นปกติ เนื่องจากร่างกายที่แข็งแรงมีผลต่อประสิทธิภาพของสมองด้วยนั่นเอง
- เพิ่มการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการลองออกกำลังกายแบบใหม่ ๆ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน
- เลิกดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงที่เซลล์สมองจะถูกทำลาย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มโปรตีนและผักผลไม้
- เลือกทำกิจกรรมศิลปะบำบัด ซึ่งจะช่วยทั้งเสริมสร้างทักษะและดีต่อสภาพจิตใจ
ปัจจุบันโรคอัลไซเมอร์ยังไม่มีแนวทางที่รักษาให้หายขาดได้ การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หากมั่นใจว่าลดพฤติกรรมเสี่ยงและดูแลสุขภาพร่างกายเป็นอย่างดีแล้ว ลองเพิ่มทักษะและประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยมีโอกาสได้เรียนแต่อยากลองเมื่ออายุยังน้อย เมื่อลดความเครียดได้ ความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ก็จะน้อยลงเช่นกัน