โรคอ้วนในผู้สูงอายุ ภัยเงียบที่ไม่ควรประมาท
หากพูดถึงโรคอ้วน ภาพจำของโรคนี้มักเป็นคนช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่นที่ได้รับโภชนาการไม่เหมาะสม หรือวัยทำงานที่ละเลยการดูแลตนเองและระบบเผาผลาญทำงานได้น้อยกว่าวัยรุ่น ในขณะที่ผู้สูงอายุเองก็เป็นวัยที่เสี่ยงต่อโรคอ้วนได้เช่นกัน เพียงแต่มีภาวะของโรคอื่น ๆ ที่ปรากฏเด่นชัดมากกว่า ทำให้โรคอ้วนถูกมองข้ามไป ผู้สูงอายุหลายคนอาจเสี่ยงต่อภาวะโรคอ้วนโดยไม่รู้ตัว อย่ามองข้ามเพราะเห็นว่าเป็นภาวะปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ หากน้ำหนักขึ้นหรือรูปร่างอ้วนขึ้นจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ผู้สูงอายุอ้วนแค่ไหน จึงเรียกได้ว่าเป็นโรคอ้วน
โรคอ้วนเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในระดับโลก เนื่องจากเป็นโรคที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อตามมาได้อีกหลายโรค เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน เป็นต้น เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม จึงมีความเสี่ยงเท่ากันไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใด สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้มากเท่ากับวัยทำงานหรือวัยรุ่น ทำให้กิจกรรมที่ใช้ร่างกายน้อยลง หากทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูงเป็นประจำ ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนเพราะไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป โดยเกณฑ์การวัดว่าเป็นโรคอ้วนหรือไม่นั้น มีดังนี้
- ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI สูงตั้งแต่ 25 ขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคอ้วน หากอยู่ที่ 23 ขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 25 อยู่ในเกณฑ์ที่เริ่มน้ำหนักเกิน จำเป็นต้องเฝ้าระวัง
- มีภาวะปวดเข่าและข้อเท้าเรื้อรัง เนื่องจากรับน้ำหนักร่างกายมาก
- อึดอัดร่างกาย หายใจลำบาก ร้อนและหอบเหนื่อยง่าย นอนกรนติดต่อกันเป็นเวลานาน
- เริ่มมีภาวะของโรคอื่น ๆ ปรากฏร่วมด้วย เช่น หยุดหายใจขณะหลับ แน่นหน้าอก แผลหายช้า เป็นต้น
วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคอ้วน เป็นแล้วก็ปรับเปลี่ยนได้
ถึงแม้ค่า BMI จะแตะเลข 25 ไปแล้วก็ยังไม่ต้องกังวลมากจนเกินไป เนื่องจากโรคอ้วนสามารถรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาจึงจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น หรือจะขอความร่วมมือจากสมาชิกในครอบครัวทำไปด้วยกันได้จะยิ่งดี เพื่อให้วิธีการเหล่านี้ราบรื่นมากขึ้น
- กำหนดอาหารที่มีโภชนาการเหมาะสม ย่อยง่าย รสไม่จัด ดีต่อร่างกายผู้สูงอายุ
- งดขนมกินเล่น หรือขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เพื่อลดนิสัยกินจุกจิกไม่เป็นเวลา
- ออกกำลังกายเบา ๆ แต่สม่ำเสมอทุกวัน โดยเฉพาะการออกกำลังกายประเภทแอโรบิก
- ทำงานอดิเรกที่ต้องขยับร่างกาย และช่วยจรรโลงจิตใจ เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นดนตรี งานฝีมือ
- ไปตรวจสุขภาพเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ หรืออย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง
ผู้สูงอายุที่ดูแลสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการทำจิตใจให้แจ่มใส ก็จะแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่มีแนวโน้มที่จะสร้างพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคอ้วน ทั้งนี้ บุตรหลานหรือผู้ดูแลใกล้ชิดก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเช่นกัน หากผู้สูงอายุอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ก็ป้องกันได้ทั้งโรคอ้วนและโรคอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี