ตกลงกันได้หรือยัง? คุณพ่อหรือคุณแม่ ใครจะเป็นฝ่ายไปทำหมัน

ตกลงกันได้หรือยัง? คุณพ่อหรือคุณแม่ ใครจะเป็นฝ่ายไปทำหมัน

การทำหมัน มักเป็นการตัดสินใจของคู่รักที่มีลูกด้วยกันมาแล้ว และผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดแบบถาวร ซึ่งทั้งผู้หญิง และผู้ชายก็สามารถทำได้ โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงมักจะเป็นฝ่ายทำหมัน หลังจากการคลอดลูกเลย ถึงจะสะดวก และเจ็บตัวในครั้งเดียว แต่ก็มีความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจตามมาได้ ซึ่งในปัจจุบันผู้ชายก็เป็นฝ่ายเสียสละในการทำหมันได้ เพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่า และมีความง่ายกว่าการทำหมันหญิงอีกมากมายที่คุณยังไม่รู้

ศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ ทั้งการทำหมันหญิง และทำหมันชาย

เรามาเริ่มกันที่การทำหมันหญิงก่อน การทำหมันหญิงแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ การทำหมันเปียก (การทำหมันหลังคลอด) และการทำหมันแห้ง ซึ่งให้ประสิทธิภาพสูงเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันที่ขั้นตอนการทำ

1. การทำหมันเปียก

หรือเรียกอีกอย่างว่า การทำหมันหลังคลอด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถทำได้ระหว่างคลอด หรือหลังคลอดไม่เกิน 24-72 ชั่วโมง เพราะการทำหมันเปียก แพทย์จะสามารถสังเกตยอดมดลูกที่อยู่เหนือสะดือได้ง่าย ทำให้คลำพบรังไข่ได้ง่ายขึ้น จึงทำให้การผ่าตัดทำหมันง่ายกว่าการทำหมันแห้งนั่นเอง

ข้อดี แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นหลังทำหมันร่วมกับการพักฟื้นหลังคลอดลูก จึงช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลาได้

2. การทำหมันแห้ง

เป็นการทำหมันในช่วงเวลาอื่นที่คุณเลือกเอง โดยแพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดแบบเดียวกับการทำหมันเปียก แต่แพทย์จะคลำพบรังไข่ได้ยากกว่า เพราะตำแหน่งของยอดมดลูกที่อยู่เหนือสะดือจะหาได้ยากกว่าคนที่คลอดลูกนั่นเอง

ข้อดี สามารถเลือกทำหมันในช่วงเวลาที่รู้สึกว่าพร้อม และสะดวกใจได้ตามต้องการ และสามารถเลือกวิธีผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กได้

การทำหมันหญิง ทั้ง 2 แบบ มีความเสี่ยงหลากหลายข้อ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัด เช่น ท่อนำไข่ฉีกขาด อวัยวะใกล้เคียงได้รับความเสียหาย และภาวะเสียเลือดมาก เป็นต้น

การทำหมันชาย มีวิธีการทำแบบเดียว สามารถเลือกทำตอนไหนก็ได้ ตามความสะดวกใจ โดยแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ ทำให้ไม่มีอาการเจ็บปวด จากนั้นเจาะรูผนังถุงอัณฑะ ดึงท่ออสุจิขึ้นเพื่อทำการตัดท่ออสุจิ และผูกปลายทั้ง 2 ข้าง ที่สำคัญใช้เวลาทำเพียงแค่ 15-20 นาทีเท่านั้น

หลากหลายข้อดีของการทำหมันชาย

1. ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร
2. ให้ประสิทธิภาพสูง
3. ไม่มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศ
4. ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทำหมันหญิง
5. ความเสี่ยงน้อยมาก
6. ไม่ต้องดมยาสลบ

เช็กลิสต์ความพร้อมของแต่ละฝ่าย ให้ตกลงกันง่ายขึ้น

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าการทำหมันชายนั้น มีขั้นตอนที่รวดเร็วกว่า ง่ายกว่า และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการทำหมันหญิง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละฝ่าย และการตกลงกันภายในครอบครัว เรามาดูเช็กลิสต์ง่าย ๆ กันเลยว่า ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย หากจะตัดสินใจทำหมัน ต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง

หากฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายทำหมัน

  • มีโรคประจำตัวที่ยังควบคุมไม่ได้ เช่น โรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน หรือโรคเกี่ยวกับพังผืดในช่องท้อง ไม่ควรเข้ารับการทำหมัน เพราะมีความเสี่ยงสูง
  • ภาวะตกเลือดหลังคลอด ส่งผลอันตรายถึงชีวิต จะไม่สามารถทำหมันได้
  • ต้องงดน้ำ งดอาหาร อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • ต้องทำความสะอาดหน้าท้องจนถึงหัวหน่าวให้สะอาด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
  • แพทย์ต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ และยาสลบในการทำหมัน
  • หลังทำหมันต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ 7 วัน งดการยกของหนัก และงดการมีเพศสัมพันธ์ 1-2 เดือน

หากฝ่ายชายเป็นฝ่ายทำหมัน

  • ไม่ต้องดมยาสลบ ไม่มีแผลเย็บผ่าตัด
  • ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร
  • มีความเสี่ยงต่ำ พบได้น้อยมาก เช่น มีเลือดคั่งในอัณฑะ การติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด หรืออาการปวด เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะเห็นได้ว่าการทำหมันหญิงมีความเสี่ยงมากกว่าการทำหมันชายอย่างมาก อีกทั้งการทำหมันชายยังใช้เวลาทำไม่นาน ไม่ต้องมีแผลผ่าตัด และค่าใช้จ่ายยังน้อยกว่าอีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสะดวก และการตกลงกันระหว่างคู่รัก หวังว่าบทความนี้ของเราจะเป็นผู้ช่วยในการตัดสินใจให้คุณได้ดี

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top