วิธีป้องกันสมองเสื่อม ในผู้สูงอายุ ที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน

วิธีป้องกันสมองเสื่อม ในผู้สูงอายุ ที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน

สมองเสื่อม หลงๆ ลืมๆ อาการที่สามารถพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ตัวคุณเองที่อายุยังไม่มากก็อาจประสบกับปัญหานี้ได้เช่นกัน ซึ่งอาการสมองเสื่อมนั้นมีผลมาจากพฤติกรรมหรือโรคบางชนิด วิธีป้องกันสมองเสื่อมที่ดีที่สุดก็คือการดูแลตัวเอง เพื่อไม่ให้สมองเสื่อมสภาพไปพร้อมๆกับอายุ โดยเฉพาะใครที่อายุ 40 ปีก็ควรเริ่มหันมาดูแลตัวเองได้แล้วนะ

โรคสมองเสื่อมพบในคนอายุเท่าไหร่บ้าง?

โรคสมองเสื่อมสามารถพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในผู้ที่มีอายุที่ต่ำกว่า 65 ปี จะไม่มีโอกาสเป็น โดยเฉพาะในผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เบาหวาน หรือมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดี ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง เช่น

  • มีพฤติกรรมชอบการสูบบุหรี ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ไม่ค่อยได้ขยับตัว หรือออกกำลังกาย 
  • ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อสมองเสื่อมเช่นกัน

6 วิธีป้องกันสมองเสื่อม

เนื่องจากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าพฤติกรรมนั้นมีผลต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จึงเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ โดยวิธีป้องกันสมองเสื่อมสามารถทำได้ดังนี้

1. นอนหลับให้เพียงพอ

วิธีป้องกันสมองเสื่อม ด้วยการนอนหลับให้เพียงพอ

การนอนหลับมีความสำคัญต่อสภาพจิตใจ และเป็นวิธีป้องกันสมองเสื่อมที่สามารถทำได้ง่ายที่สุด โดยมีผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยมาดริด ประเทศสเปน ระบุเอาไว้ว่า คนที่ใช้เวลาในการนอนหลับเฉลี่ยต่อวันน้อยกว่า 6 ชั่วโมง นั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่าผู้ที่นอนอย่างน้อย 7 ชัวโมงต่อวัน เพราะฉะนั้นควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง/วัน

2. ออกกำลังกาย

สำหรับใครที่ไม่อยากให้สมองเสื่อมไว การทำกิจกรรมที่ต้องขยับตัวแบบการออกกำลังกายช่วยได้นะ การออกกำลังกายบางประเภทอาจเป็นปัญหาสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้มาก อาจเริ่มต้นจากการขยับตัวเล็กๆน้อยๆอย่างการเดิน หรือ Chair exercise 

3. ระวังจากโรคที่เกิดจากพฤติกรรม

โรคที่เกิดจากพฤติกรรม หรือ โรค NCDs (non-communicable diseases) ถือเป็นกลุ่มโรคที่น่ากลัวเพราะกลไกการเกิดโรคเหล่านี้นั้นมาการใช้ชีวิต และพฤติกรรมของตัวเราเอง ซึ่งโรคที่ควรระวังคือ ไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง, โรคอ้วน และเบาหวาน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม ยิ่งเรามีโรคมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงของการเป็นอัลไซเมอร์ก็มากขึ้นไปด้วย

โรคอัลไซเมอร์

4. ไม่หยุดเรียนรู้

การเรียนรู้ถือว่ามีความสำคัญต่อการช่วยลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมมาก มีการวิจัยที่ทำการเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ได้รับการศึกษาที่ต่างกัน ซึ่งได้ข้อสรุปว่าผู้ที่ได้รับการศึกษาที่มากกว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมต่ำกว่า

เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า ‘การรับรู้สำรอง’ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ประสบการณ์หรือความรู้ที่มาก แม้ว่าจะมีการสูญเสียเซลล์ประสาทในสมองไปบางส่วน แต่ประสบการณ์และความรู้ส่วนอื่นๆที่สมองสะสมไว้นั้นก็สามารถนำใช้มาทดแทนในส่วนที่หายไปได้ เพราะฉะนั้นควรหมั่นทำกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้สมองได้เรียนรู้อยู่เสมอ เช่น การคิดเลข อ่านหนังสือ เป็นต้น

5. หลีกเลี่ยงสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

มีผลการวิจัยจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่สมองจะเสื่อมมากกว่าคนทั่วไป สูงถึง 45% และพบว่ามีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ที่มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ซึ่งคิดเป็นจำนวน 14% 

ส่วนแอลกอฮอล์ก็เป็นอีกตัวการที่เพิ่มความเสี่ยงเช่นกัน โดยผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หนัก นั้นมีความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมสูงถึง  4.6 เท่า ซึ่งไม่ได้ส่งผลเสียต่อแค่สมอง แต่รวมไปถึงระบบประสาท หัวใจ และอาจมีผลต่อสภาพจิตใจด้วย

6. อย่าอยู่คนเดียว หรือปลีกตัวจากสังคม

ผู้ที่อยู่คนเดียวและไม่พบปะผู้คนนานๆ มีโอกาสที่่จะเกิดโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนทั่วไป ถึง 2.5 เท่า เพราะฉะนั้นคุณควรไปพบปะเพื่อฝูง คนในครอบครัว หรือทำกิจกรรมที่ต้องพบปะผู้คนเพื่อไม่ให้รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยวบ้างเป็นครั้งคราว อีกทั้งการที่ไม่พบเจอใครเลยอาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตใจด้วย

พบปะครอบครัว วิธีป้องกันสมองเสื่อม

อาหารป้องกันโรคสมองเสื่อม (Mind Diet)

วิธีป้องกันสมองเสื่อมที่ได้ผลอีกวิธีหนึ่งก็คือ การรับประทานอาหารนี่แหละ หลายคนอาจไม่รู้ว่าการรับประทานอาหารแบบ Mind diet เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม และการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

อาหารป้องกันโรคสมองเสื่อม

Mind diet คือ การเลือกรับประทานอาหารโดยเน้นทานเนื้อปลามากกว่าการทานเนื้สัตว์ และทานผัก พืชหัว (พืชที่มีรากหรือลำต้นใต้ดิน) และถั่ว ให้มีปริมาณที่สมดุลกัน โดยการรับบประทานแบบ mind diet นั้นเป็นการรับประทานอาหารที่เกิดจากการนำเอาวิธีการรับประทานแบบ DASH Diet (การคุมอาหารเพื่อช่วยระงับความดันโลหิตสูง) มาผสมกับ Mediterranean Diet (การคุมอาหารเพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจและโรคเรื้อรังต่างๆ)

อาหารที่ควรกิน

  • พืชผักสีเขียวและเหลือง
  • พืชหัว
  • ถั่วเปลือกแข็ง และถั่วเมล็ด
  • ผลไม้ตระกูลเบอรรี่
  • ปลา โดยเฉพาะปลาหลังเขียว เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาซาบะ
  • ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี
  • เนื้อไก่
  • น้ำมันมะกอก
  • ไวน์ แต่ไม่ควรดื่มมากจนเกินไป
  • กาแฟ และชาเขียว
  • แกงกะหรี่ ในแกงกะหรี่มีขมิ้นซึ่งเป็นส่วนผสม ซึ่่งขมิ้นมีสารเคอร์คูมิน Curcumin ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

  • เนื้อแดง
  • เนย ชีส หรือมาการีน
  • ของหวานหรือเบเกอรี่
  • อาหารฟาสฟู้ดส์ หรือของทอด ของมัน

กิจกรรมฝึกสมองผู้สูงอายุ

วิธีป้องกันสมองเสื่อมโดยการใช้สมอง

วิธีป้องกันสมองเสื่อมที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ทุกวัน มีดังนี้

1.การฝึกคิดเลขเร็ว

หัดคิดเลขเร็ว หรือคิดเลขในใจ เล่น sudoku หรือบวกเลขที่ไม่ยากจนเกินไป ซึ่งการคิดเลขในใจถือเป็นการช่วยออกกำลังกายในสมอง

“การคิดเลขในใจทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง จะกระตุ้นให้เกิดการออกกำลังกายของสมอง ​( Brain Exercise ) กระตุ้นเซลล์สมองให้สร้างแขนงประสาทไปเชื่อมต่อกับเซลล์สมองส่วนอื่นๆเพิ่มเส้นใยประสาทของเซลล์ประสาท (Neurons) ให้มีการเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น และยังอาจเพิ่มปริมาณสารเคมีที่บรรจุอยู่ประสาทให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถใช้สมองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม” (คิดเลขในใจช่วยป้องกันสมองเสื่อม, นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์)

2.การเต้นแอโรบิก

การเต้นแอโรบิกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที สามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ได้ หรือกิจกรรมแอโรบิกที่ไม่ต้องใช่แรงมากๆ เช่น แอโรบิกในน้ำ การว่ายน้ำ

3.อ่านหนังสือ

การอ่านหนังสือเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว แต่มีหลายๆคนที่อาจไม่ค่อยถูกกับการอ่านหนังสือเพราะอ่านแล้วง่วงบ้าง หรืออ่านแล้วไม่เข้าหัว อาจลองหาเรื่องที่มีเนื้อหาสบายๆมา หรือมีภาพประกอบมากกว่าตัวหนังสืออ่านแทนอาจทำให้สามารถอ่านได้ง่ายขึ้น

4.เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆบ้าง ถือเป็นการช่วยเปิดหูเปิดตา และช่วยปรับเปลี่ยนอารมณ์ โดยเฉพาะในผู้ที่เบื่อง่าย ข้อดีของการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆคือสมองนั้นจะมีการทำงานตลอดเวลาซึ่งเป็นวิธีป้องกันสมองเสื่อมที่ทำแล้วได้ผลดีในหลายๆเรื่อง

หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วแต่ยังรู้สึกว่ามีอาการหลงลืม ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษา เช่น คลินิกความจำ เพราะหากปล่อยไว้นานจนอาการหนักอาจยากต่อการรักษา และกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งในบางรายอาจมีอาการหนักถึงขั้นที่ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวคนเดียวได้และจำเป็นต้องมีผู้คอยดูแล

เอกสารอ้างอิง

  • Stress free เครียดอยู่ได้, ชิออน คาบาซาวะ
  • Association of lifetime intellectual enrichment with cognitive decline in the older population, Pubmed
  • Dementia, WHO

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top