คำพูดต้องห้าม กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ปัญหาโรคซึมเศร้ามีอัตราการเพิ่มขึ้นทุกปี ที่สำคัญมีผู้ป่วยซึมเศร้าทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวซึ่งถึงว่าเป็นกลุ่มที่อันตรายอย่างยิ่ง โดยข้อมูลจากศูนย์โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต ปี 2564 ได้ระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน โดยผู้ป่วย 100 คนสามารถเข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น และทุกชั่วโมงจะมีคนไทยพยายามฆ่าตัวตาย 6 คน คิดเป็น 53,000 คนต่อปี และฆ่าตัวตายสำเร็จราว 4,000 คนต่อปี
ผู้ป่วยซึมเศร้าที่มีอาการหนักและไม่ได้รับการรักษาเยียวยาอย่างทันท่วงที สุดท้ายเมื่ออาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ จะไปสิ้นสุดที่การพยายามฆ่าตัวตาย โดยผู้ป่วยซึมเศร้าจะมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าทั่วไปถึง 20 เท่า แม้ว่าเพศหญิงจะมีอัตราการป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศชาย แต่การฆ่าตัวตายได้สำเร็จส่วนใหญ่จะเป็นเพศชาย
วิธีการรักษาโรคซึมเศร้ามีหลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยยาเพื่อการปรับสมดุลเคมีในสมอง และวิธีการรักษาด้านจิตใจ โดยการปรับความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยที่เป็นแง่ลบกับตัวเอง ซึ่งต้องอาศัยคนใกล้ชิดรอบตัวและครอบครัว ด้วยการพูดคุยกัน แสดงความรักและความใส่ใจ แต่ข้อควรระวังที่เป็นดาบสองคมของคำพูดปลอบใจคือ กลายเป็นคำพูดที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่กว่าเดิม เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงมีลักษณะแนวทางคำพูดที่ใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามาบอกดังนี้
คำพูดต้องห้าม ที่ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือผู้ที่มีอาการเข้าข่ายโรคซึมเศร้า
คำที่ไม่ควรพูดเด็ดขาด คือคำพูดที่แสดงถึงการที่ให้ผู้ป่วย “สู้ด้วยตัวเอง” ตามลำพัง เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีสัญชาตญาณการอยู่รอด ถ้าเขาสู้ด้วยตัวเองได้เขาคงทำไปแล้ว โดยคำพูดพวกนี้นอกจากจะไม่ได้ให้กำลังใจแล้วยังทำให้พวกเขาอาการหนักกว่าเดิมอีก ซึ่งคำที่ไม่ควรพูดสามารถยกตัวอย่างเช่น
- อย่าคิดมาก
- ร้องไห้ทำไม อย่าร้องไห้
- เสียใจด้วยนะ
- พยายามอีกนิด ต้องทำได้
- ทำไมทำไม่ได้ล่ะ
- อย่าท้อสิ
- มีคนที่แย่กว่าคุณอีก
- สู้ ๆ นะ
- เป็นบ้ารึเปล่า
- ลองมองโลกในแง่ดีดูสิ
- ใคร ๆ ก็เคยผ่านเรื่องแบบนี้ทั้งนั้น
- หัดช่วยตัวเองบ้างสิ
เมื่อเรารู้ข้อควรระวังของลักษณะคำพูดต้องห้ามแล้ว เรามาดูกันว่าลักษณะของคำพูดที่ควรพูดนั้นควรมีลักษณะไหน
คำควรพูด กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
เป็นคำพูดลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าคุณพร้อมอยู่เคียงข้างเขาเสมอ ลักษณะคำพูดเชิงบวก คำชม คำพูดที่ให้กำลังใจ เชื่อมั่น เห็นคุณค่า และรักในตัวเขาเสมอ และสิ่งที่ควรทำคือ พูดด้วยน้ำเสียงมั่นคง แสดงถึงความจริงใจ และโอบกอดเขาด้วยอ้อมแขนของคุณ ยกตัวอย่างเช่น
- ฉันจะอยู่ข้าง ๆ เธอนะ
- มากอดกันไหม
- ฉันขอโทษถ้าทำให้เธอรู้สึกแย่
- ฉันรักเธอ ไม่ว่าเธอจะเป็นยังไง
- ฉันจะช่วยเธอได้ยังไงบ้าง
- ไม่มีใครอยากให้เรื่องร้าย ๆ เกิดขึ้นหรอก ฉันรู้ดี
- ฉันรักเธอ เธอสำคัญสำหรับฉันเสมอนะ
- เธอไม่ได้บ้า เธอแค่เศร้า
- ออกไปเดินเล่นกันไหม
- เธอมีคุณค่าในตัวเองนะ
- ฉันอยู่ตรงนี้ มีอะไรเล่าให้ฉันได้ ถ้าไม่อยากเล่า ยังไงฉันก็ยังอยู่ข้าง ๆ เธอ
- อยากร้องไห้ ร้องออกมาเลย ไม่เป็นไรนะ
- เราลองไปหาหมอกันไหม ไปหาหมอไม่ใช่เรื่องแย่หรือเรื่องผิดอะไรเลยนะ
- ฉันอาจจะไม่เข้าใจเธอทั้งหมด แต่ฉันอยากเข้าใจเธอนะ
- เธอทำได้ เธอเก่งอยู่แล้ว
ความรักความเข้าใจ คำพูดและการแสดงออกที่แสดงถึงความรักและอยู่เคียงข้าง ไม่ได้ต้องการแค่ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าเท่านั้น หันไปดูแลความรักและความสัมพันธ์ หมั่นเติมความรักความเข้าใจให้กันและกัน เพราะคำพูดดี ๆ ทำให้ทุกคนมีวันดี ๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ป่วยแล้วจึงค่อยพูด เพราะนั่นอาจจะสายเกินไป