4 วิธีป้องกันไม่ให้สุขภาพจิตผู้สูงอายุแย่ลง

4 วิธีป้องกันไม่ให้สุขภาพจิตผู้สูงอายุแย่ลง

วัยเกษียณถือเป็นวัยที่ผ่านการใช้ชีวิตมาอย่างโชกโชน เป็นช่วงวัยที่พบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ต้องเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ชีวิต หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย จากที่เคยตื่นแต่เช้าไปทำงาน และมีกิจกรรมเข้าสังคมกับผู้คนมากมายก็อาจจะลดน้อยลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตผู้สูงอายุได้

รู้หรือไม่ ทำไมผู้สูงอายุมักมีสุขภาพจิตแย่ลงในบั้นปลายชีวิต

หลายคนอาจจะเกิดความสงสัยกันได้ว่าเกษียณแล้วทำไมผู้สูงอายุบางคนไม่มีความสุข และในบางครั้งคนในวัยชราส่วนใหญ่กลับมีสุขภาพจิตที่แย่ลง สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง

1.ความรู้สึกหมดคุณค่าในตนเอง

แน่นอนว่าเมื่อไม่ได้ทำงานเหมือนเดิม รายได้ที่เคยเข้ามาในทุก ๆ เดือนก็อาจจะหายไปหรือลดน้อยลง ส่งผลให้ผู้สูงอายุบางคนรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไม่สามารถหาเงินเลี้ยงดูตัวเองได้เหมือนเคย จึงส่งผลต่อสุขภาพจิตผู้สูงอายุได้

2.ขาดเป้าหมายในการใช้ชีวิตอยู่

การมีงานทำนั้น อย่างน้อย ๆ ตื่นเช้ามาก็จะรู้แน่ ๆ ว่าวันนี้ต้องทำอะไร ต้องมีธุระอะไรบ้างที่ต้องจัดการให้เสร็จเรียบร้อยในแต่ละวัน แต่พออยู่ในช่วงวัยเกษียณ เมื่อไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ออกไปพบเจอผู้คนนอกบ้านบ้าง ก็อาจจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเบื่อหน่าย และไม่มีเป้าหมายในการใช้ชีวิต ทำให้ไม่รู้สึกว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร

3.รู้สึกถึงความโดดเดี่ยว

ในวัยผู้สูงอายุนั้นการพบเจอเพื่อนสนิทมิตรสหายอาจจะทำได้น้อยลง ลูกหลานในครอบครัวก็มีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องทำงานทุกวัน จะมีเวลาให้ครอบครัวญาติผู้ใหญ่ก็ต่อเมื่อมีวันหยุด อีกทั้งลูกหลานเองก็ต้องมีเวลาส่วนตัว ต้องออกไปใช้ชีวิต ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวที่ต้องอยู่เพียงลำพัง ทำให้ไม่มีความสุขในการมีชีวิตอยู่ ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก

4 วิธีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้สุขภาพจิตผู้สูงอายุแย่ลงจนส่งผลเสีย

จากสาเหตุต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา ที่อาจเป็นส่วนสำคัญส่งผลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตแย่ลงในบั้นปลายชีวิตนั้น อย่างน้อยข่าวดีก็คือพอจะมีวิธีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้สุขภาพจิตผู้สูงอายุเลวร้ายลงจนอาจจะส่งผลเสีย

1.หมั่นคอยเอาใจใส่ดูแลความรู้สึก สภาพจิตใจของผู้สูงอายุอยู่อย่างสม่ำเสมอ อย่าละเลยความรู้สึกของญาติผู้ใหญ่แม้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เด็ดขาด เพราะในวัยนี้จะเกิดความน้อยใจได้ง่าย

2.หากิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ทำร่วมกันระหว่างลูกหลานคนในครอบครัวและญาติผู้ใหญ่ในบ้าน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเพิ่มมากขึ้น

3.มอบหมายให้ผู้สูงอายุรับผิดชอบเรื่องบางอย่างที่ไม่หนักมากเกินไป เช่น การดูแลบุตรหลานบ้างในบางครั้ง การทำอาหารให้คนในครอบครัวทานเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้เขามีอะไรให้โฟกัส ลดความรู้สึกเบื่อหน่ายในการใช้ชีวิตแต่ละวันให้ผ่าน ๆ ไป

4.ให้เงินผู้สูงอายุไว้ใช้จ่ายเรื่องส่วนตัว เพื่อให้เขามีความรู้สึกว่าตนมีอำนาจทางการเงินสามารถใช้จ่ายอย่างที่เคยได้บ้าง หรือให้เงินตามเทศกาลต่าง ๆ เพื่อให้เขามีไว้แจกลูกหลานต่อไป ก็จะช่วยเพิ่มความรู้สึกของการมีตัวตน มีความสำคัญในครอบครัวได้เพิ่มขึ้น

สุขภาพจิตผู้สูงอายุในครอบครัวมีความสำคัญมาก ดังนั้นหากคนในครอบครัวช่วยกันดูแลให้เขามีความสุขอยู่ตลอดเวลาก็จะส่งผลถึงความสุขมวลรวมในบ้านให้กลายเป็นบ้านที่น่ารักอบอุ่น อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เชื่อเหลือเกินว่าในวาระสุดท้ายของชีวิตของญาติผู้ใหญ่ของเรา แม้จะมีความเสียใจที่ต้องจากกันอย่างไม่มีวันกลับมาพบเจอกันได้อีก แต่จะเป็นการจากลากันด้วยความไม่รู้สึกติดค้างใด ๆ อีก เพราะลูกหลานได้ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขทางใจอย่างเต็มที่เต็มความสามารถแล้วนั่นเอง

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top