ผู้ป่วยทางจิตเวช ฆ่าคนไม่ผิดจริงเหรอ?

ผู้ป่วยทางจิตเวช ฆ่าคนไม่ผิดจริงเหรอ?

“คนบ้าฆ่าใครก็ได้ ไม่ผิด ไม่ติดคุก” เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงแอบคิดกังขาว่าคำกล่าวนี้เป็นความจริงหรือไม่

เพราะมีเหตุการณ์หลายครั้งหลายคราที่ผู้กระทำความผิดก่อเหตุรุนแรงทำลายข้าวของ ทำร้ายร่างกายหรือบางคราอาจถึงกับคร่าชีวิตผู้อื่น แล้วอ้างว่าตนมีอาการป่วยทางจิตไม่ได้ตั้งใจจะกระทำการดังกล่าว ซึ่งผู้นั้นอาจจะมีอาการทางจิตจริง หรือโดยมุ่งหวังเพื่อจะได้รับการละเว้นจากการเอาผิดหรือรับโทษทางกฎหมายก็เป็นได้ ทำให้เกิดความหวาดกลัวและสงสัยจากคนในสังคมว่าจริงหรือ ที่คนบ้าหรือผู้ป่วยทางจิตฆ่าคนแล้วไม่ต้องรับโทษ

ในปัจจุบันกรมสุขภาพจิตได้ออกมายืนยันแล้วว่าผู้ป่วยจิตเวชต้องรับโทษเมื่อก่อเหตุการณ์หรือกระทำการที่ผิดกฎหมาย ยกเว้นจะพิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถรู้รับผิดชอบและไม่สามารถบังคับตนเองได้ ซึ่งรายละเอียดของกฎหมายได้ระบุถึงการรับโทษและการละเว้นโทษไว้ดังนี้

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 65 มีการระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่องโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษ แต่ศาลจะลงโทษ “น้อยกว่า” ที่กฎหมายกำหนดก็ได้   

ดังนั้นคำว่า “คนบ้าฆ่าใครก็ได้ ไม่ผิด ไม่ติดคุก” นั้นถือว่าไม่เป็นความจริงซะทั้งหมด เพราะต่อให้มีอาการทางจิตจริง ก็ต้องเข้าสู่ขบวนการทางกฎหมายอยู่ดี โดยศาลจะมีขั้นตอนวิธีการพิจารณาคดีตามที่กล่าวมาขั้นต้นแล้วจึงนำไปสู่การตัดสินคดีเพื่อความยุติธรรมสำหรับทุกฝ่ายต่อไป ถึงตอนนี้บางคนอาจมีคำถามผุดขึ้นในใจว่า แล้วถ้ามีคนหัวหมอ ทำผิดแล้วแกล้งว่ามีอาการป่วยทางจิตหรือแกล้งบ้าล่ะสามารถทำได้ไหม ในบรรทัดต่อไปเรามีคำตอบมาให้แล้ว

เมื่อกระทำความผิดแล้วแกล้งเป็นผู้ป่วยทางจิต เพื่อจะได้ไม่ต้องรับโทษ สามารถเป็นไปได้ไหม?

ตอบเลยว่า “ยากมาก” เพราะเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถตบตาผู้เชี่ยวชาญหรือหมอด้านจิตเวชได้ เพราะผู้กระทำผิดที่อ้างว่าเป็นมีอาการทางจิตนั้นจะต้องถูกวินิจฉัยอย่างละเอียดว่ามีอาการป่วยทางจิตเวชจริง โดยต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยทางจิตเวช โดยจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบประวัติการรักษา การตรวจหาทางจิตเวช การหาพยานบุคคล และอาจรวมถึงการตรวจสภาวะสารเคมีในสมองว่าผิดปกติหรือไม่ ถึงจะสามารถสรุปและวินิจฉัยว่ามีอาการป่วยทางจิตจริง

การให้ข้อมูลที่เป็นเท็จอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกหวาดกลัวจนเกินเหตุ แม้ในปัจจุบันจะมีจำนวนผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่พวกเขามักจะมีแนวโน้มทำร้ายตนเองมากกว่าทำร้ายผู้อื่น

การอยู่ร่วมกันกับผู้ป่วยทางจิตเวชไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด อาจต้องระมัดระวังแต่ไม่ควรรังเกียจ เพราะผู้ป่วยทางจิตเวชก็มีความเป็นมนุษย์ มีความรู้สึกมีความคิดเฉกเช่นเรา และที่สำคัญพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นกัน

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top