7 สัญญาณเตือนที่บอกว่าคุณอาจเป็นโรคทางจิตเวช

7 สัญญาณเตือนที่บอกว่าคุณอาจเป็นโรคทางจิตเวช

แม้จำนวนผู้ป่วยทางจิตเวชจะเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี แต่กลับมีอัตราเข้ารับการรักษาพยาบาลต่ำกว่าโรคที่แสดงออกทางกาย เนื่องมาจากทัศนคติของการยอมรับว่าตนเองป่วยทางจิตนั้นเป็นเรื่องที่ยาก รวมทั้งการไม่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยทางจิตได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอของหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยข้อมูลการรายงานทรัพยากรสาธารณสุขในปี 2564 พบว่าทั่วประเทศ มีจำนวนจิตแพทย์ทั้งหมด 860 คน และนักจิตวิทยาทั่วประเทศทุกสังกัดไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐและเอกชนมีจำนวน 729 คน ดังนั้นจำนวนบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการให้คำปรึกษาและรักษาโรคทางจิตในประเทศไทย มีเพียง 1,589 คนต่อประชากรทั้งประเทศ

การเข้าไม่ถึงการรับการรักษาทางจิตเวช และการไม่ยอมรับอาการป่วยนั้น ทำให้กว่าผู้ป่วยจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาก็อาจจะสายเกินไปแล้ว การเข้ารับการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ผู้ป่วยสามารถหายจากโรคหรือมีอาการดีขึ้นและกลับไปใช้ชีวิตแบบคนปกติได้ โดยเบื้องต้นเราควรสังเกตและใส่ใจสภาวะจิตใจของตนเอง และคนรอบข้างว่ามีอาการเข้าข่ายสงสัยว่าเป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่

วันนี้โดยเราได้รวบรวม 7 สัญญาเตือนที่อาจบ่งชี้ถึงภาวะโรคจิตเวช เพื่อให้คุณสามารถทำการตรวจเช็กตนเองและคนรอบข้างได้อย่างง่าย ๆ ด้วยวิธีการสังเกต

7 สัญญาณเตือนว่าคุณอาจเป็นโรคทางจิตเวช

1.นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินปกติ

อาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีอาการติดต่อกันนานเกินสองสัปดาห์ขึ้นไป

2.อยากอยู่คนเดียว แยกตัวจากสังคม ไม่มีความรู้สึกเพลิดเพลินกับกิจกรรมใด ๆ

ไม่อยากออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ไม่อยากพบเจอผู้คนรู้สึกไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นแม้กระทั่งครอบครัว ไม่อยากทำสิ่งใดแม้กระทั่งงานอดิเรกที่เคยชอบ รวมถึงการละเลยไม่ใส่ใจในการดูแลตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ แปรงฟัน หรือแม้กระทั่งการแต่งตัว

3.มีการเจ็บป่วยทางกายแบบหาสาเหตุไม่ได้

เช่น อ่อนเพลียไม่มีแรง เป็นโรคกระเพาะเฉียบพลัน ปวดท้อง ท้องอืด มีอาการคลื่นไส้อาเจียน มือเท้าชา เหงื่อออกตามข้อพับ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัว ปวดหลัง หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เหล่านี้คืออาการแฝงโดยเกิดจากสภาวะเครียดภายในจิตใจที่ร่างกายแสดงออกมา ที่เรียกว่า ภาษาร่างกายแห่งความเครียด (body language of stress)

4.เบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไร หรืออยากอาหารจนผิดปกติ

มีอาการเบื่ออาหารไม่อยากกินอะไรเลย ซูบผอม น้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว หรือในบางกรณีอาจมีอาการอยากอาหารมากเกินไปจนเกิดสภาวะการกินที่ผิดปกติ น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็วควบคุมพฤติกรรมการกินของตนไม่ได้

5.สมาธิลดลง ใจลอย หลงลืม

ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้เช่นเดิม ความสามารถในการคิดลดลง ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ หรือกว่าจะตัดสินใจได้ใช้เวลาคิดนานมากแม้ในเรื่องปกติธรรมดาการเคลื่อนไหวเชื่องช้าคล้ายใจลอยอยู่ตลอดเวลา

6.มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น

พูดเร็ว ทำเร็ว มั่นใจในตัวเองมากเกินปกติกว่าที่เคยเป็น กระวนกระวายใจ กระสับกระส่ายมีพลังงานเยอะแสดงออกถึงอารมณ์ที่ครื้นเครงแบบผิดปกติ ไม่อยากนอน ทำสิ่งใดเหมือนปราศจากความยั้งคิด

7.มีอาการซึมเศร้า

รู้สึกโดดเดี่ยว หดหู่ ไม่มีความสุข โทษตนเอง คิดว่าตนไร้ค่าเป็นภาระ ท้อแท้ สะเทือนใจง่าย สิ้นหวัง หรือมีสภาวะอยากฆ่าตัวตาย

สิ่งที่ต้องทำเมื่อพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการเข้าข่ายโรคจิตเวช

หากมีอาการ 1 ใน 7 ข้อนี้หรือมีหลายอาการร่วมกันให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นอาการของโรคจิตเวช โดยเบื้องต้นสามารถเข้าไปติดต่อเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทำการรักษาจากสถานพยาบาลหรือหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง แต่หากว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่เป็นอันตราย และมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาโดยด่วน ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน หรือตำรวจ หรือแจ้งไปที่สายด่วน 1699 เพื่อขอความช่วยเหลือและคำแนะนำในการดำเนินการรักษาโรคต่อไป

เพราะโรคทางจิตเวชไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลย หมั่นคอยสังเกตและใส่ใจช่วยกันตรวจเช็กสภาพจิตของตนเองและคนรอบกาย เมื่อพบอาการที่น่าสงสัยอย่านิ่งนอนใจให้รีบเข้าไปปรึกษาแพทย์ การรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขแบบคนทั่วไป

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top